Monday, April 16, 2012

การแก้ไขปัญหายาเสพติด ...ปลายเหตุที่แก้ไขไม่มีวันจบสิ้น


ยาสพติดที่กำลังสร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าของประเทศนี้ คือ ยาบ้า ยาบ้าเดิมเรียกยาม้า ต้นเค้าเดิมมันมีจุดมุ่งหมายเป็นยาสำหรับใช้รักษาโรคซึมเศร้า คนเราเอามันมาใช้ในทางที่ผิด Drug abuse เมื่อมันส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสังคมมากขึ้น ปี ๒๕๓๙ กระทรวงสาธารณสุขไทยเลยอัพเกรดมันจากวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเป็นยาเสพติดประเภท ๑ ซะเลย มันทำให้ไปกันใหญ่ ราคายาม้าเม็ดละห้าบาทขยับมาเป็นร้อยบาท และหาซื้อง่ายดายเช่นเดิม ในราวปี ๒๕๔๔ ยาบ้าระบาดหนัก มีคนคลั่งจากการเสพตามสื่อต่างๆ สูงมาก รัฐบาลก็เร่งแก้ไขปัญหาโดยเริ่มพยายามใช้พลังชุมชนเข้าต่อต้าน พอปี ๒๕๔๖ ก็มีการประกาศสงคราม ทำลายวงจรยาในเบื้องต้นและใช้พลังชุมชนพลังแผ่นดินเข้าไปยึดพื้นที่คืนจากยาเสพติด ซึ่งก็รุกได้พื้นที่คืนมาในระดับหนึ่งแล้วก็ยันกันมาเรื่อย พอห้วงหลังปี ๒๕๔๙ ยาบ้าค่อยๆ รุกคืนพื้นที่แพร่ระบาดมากมายขึ้นจวบจนปัจจุบัน ราคายาบ้าสูงชึ้นถึงเม็ดละ ๓๐๐ ถึง ๕๐๐ บาท ในบางพื้นที่ ทำไมเป็นเช่นนั้น
การค้ายาบ้าส่วนมากในบ้านเราเป็นรายย่อย หาลูกค้าแบบชายตรง ผู้ค้ารายย่อยได้ส่วนต่างจากราคายาเพื่อนำมาซื้อยาเสพเองด้วย จึงต้องทวีจำนวนลูกค้าหรือดาวน์ไลน์ให้มาก จึงเกิดผู้เสพหน้าใหม่ๆ อยู่เสมอ ซ้ำร้ายที่เราเฝ้าโฆษณาปลอบใจกันว่ายาบ้าผลินนอกประเทศ เพราะพวกผลิตในประเทศโดนทำลายวงจรไปแล้วเมื่อสงคารมยาเสพติดปี ๒๕๔๖ ยาบ้าผลิตจากชนกลุ่มน้อยประเทศข้างบ้านเรา กลายเป็นเรื่องโกแปด คือ มากกว่าโกหก เพราะสารตั้งต้นดันหายไปจากระบบตั้งมากมายก่ายกอง หมอเหมอเป็นไปกับเขาด้วย ทำให้ผมไม่กล้าพูดสิ่งที่ผมพยายามนำเสนอมาตลอด คือ การลดผู้เสพรายใหม่ เยียวยาผู้เสพรายเก่า ด้วยการลดผลประโยชน์จากยาบ้าลง โดยให้กระทรวงสาธารณสุขถอนยาบ้าจากยาเสพติดประเภท ๑ กลับไปเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเช่นเดิม ให้องค์การเภสัชกรรมผลิตออกมาทุ่มตลาดมากๆ ราคาเม็ดละ ๕ บาท เพื่อลดขนาดของผลประโยชน์ต่อหน่วยของมันลง ใครเคยเสพให้ไปเสพกับแพทย์ เสพในสถานพยาบาล ซึ่งแพทย์จะค่อยๆ ถอนพิษลดขนาดยาที่ต้องเสพลงจนสู่ภาวะปกติ  ส่วนคนจะเข้าสู่วงจรการค้าก็ต้องคิดหนัก เพราะแม้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่มีหรือขายโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ต้องติดคุกอยู่ดี กำไรก็น้อย เพราะหลวงขายถูกกว่า มีไม่อั้นในสถานพยาบาลอีกด้วย ขายไปก็ไม่รวยซวยติดคุกอีก แค่นี้ก็ไร้แรงจูงใจที่จะขาย ไม่ต้องฆ่ากัน ไม่ต้องติดคุ เสริมด้วยกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน ก็จะลดขนาดความรุนแรงของการแพร่ระบาดได้ แต่ผมพูดไม่ออกแล้ว เพราะคนในวงการหมอที่คาดหวังว่าเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ไม่กอบโกยเพราะรวยอยู่แล้วจากการประกอบวิชาชีพ มาทำให้อึ้ง ทึ่ง และเสียวแสยงแทงใจ ที่เคยจะรณรงค์เสนอแนวคิดก็มอดไหม้ เฮ้อ กรรม
ไว้คิดออกจะบอกให้ฟัง ตอนนี้อยากร้องไห้

Wednesday, April 6, 2011

จะอยู่หรือไป

บางครั้ง เราอยากหลีกหนีสถานการณ์บางอย่างที่กดดัน หรือกดแต่ไม่ดัน แต่เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์นั้น ก็ต้องมี สติ และ ความมั่นคง พอสมควร ที่สำคัญคือความราบรื่นที่เกิดจากความราบเรียบต้องนำมาใช้เสมอ สถานภาพ ณ เวลาใดๆ จะบ่งบอกการตั้งรับในสถานการณ์ สิ่งที่เรายอมให้มันเกิดขึ้น นั้นคือ เรายอมรับว่ามันเกิดขึ้น(แล้ว) เราจึงต้อง"อยู่" หรือ ทนอยู่กับสถานการณ์นั้นๆ ให้ได้ การหลีกหนีแม้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดูไม่ค่อยเข้าท่าเท่าใดนัก แต่หากว่าทำแล้วเรื่องมันจบ มันราบเรียบ มันง่ายๆ ก็น่ากระทำ ยกเว้น มี"อะไร" ตามมาไม่รู้จักหยุดหย่อน ก็ต้องชั่งใจว่า จะให้มัน "อยู่" หรือให้มัน "ไป" ซะ ๕๕๕
หมายเหตุ
๑. กดดัน คือ มี"อะไร"มา"กด"ในขณะที่เรา"ดัน"(อาจถึงดื้อดัน)
๒. กด แต่ไม่ดัน คือ เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้"ดัน" แต่เสือกมีอะไรมา "กด"

Friday, April 1, 2011

ไม่ได้เข้าซะนาน

เป็นธรรมดา ของเคยๆ แต่ต่างสถานที่(เคย) ปกติเขียนอยู่ข้างนอก(บลอก) ไม่ค่อยได้เขียนข้างใน เพราะไม่ค่อยอยากให้ใครอ่าน(กลัวโง่ให้ใครๆ ดู ทั้งที่ก็โง่จริงๆ ๕๕๕)
เป็นปกติ(เหมือน/ไม่เหมือนธรรมดา?) คนเรามักคิดมากกว่าเขียน อันนี้จริงสำหรับคนบางคน ยิ่งเป็นคนแถบนี้(เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)แล้ว คิด/พูดๆ มากกว่าเขียนแหงๆ (รึแน่ๆ ดี?) อันนี้ไม่แปลก เพราะคนแถวย่านบ้านเรานี้นับถือ"ตัวหนังสือ" เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันเนื่องมาแต่โบราณการจดจารจารึกอักษรมักได้แก่คัมภีร์ทางศาสนา และสิ่งที่สื่อสารกันของ"ชนชั้นปกครอง" คนธรรมดารู้เรื่องที่ไหน (ศิลาจารึกต่างๆ ไม่ได้จารึกให้คนทั่วไปอ่าน แต่เขียนให้เทวดา) ยิ่งขู่ว่าศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย คนทั่วไปเลยกลัว"ตัวหนังสือ"กันเข้าไปใหญ่ หนังสือกับคนแถวนี้เลยห่างกันออกไป เฮ้อ
อย่างไรก็ตาม(จะตามไปไหนล่ะพ่อ?) ต่อเมื่อพวกเราติดต่อกับฝรั่งมากๆ เข้า(ออกได้ไหม?) ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่อ่านและเขียน"หนังสือ" มาก เราก็อ่านเขียนหนังสือกันแพร่หลายมากขึ้นๆ (อ่านว่า มากขึ้น มากขึ้น) และชนชั้นปกครองกลัวจะเสียคนที่จะปกครอง(ต่อ) เพราะมีคนเก่งกว่าจะมาเอาไป ก็ต้องปรับตัวให้"ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน" "รู้"หนังสือให้มากยิ่งขึ้น นี่ก็เป็นข้อดีของฝรั่งนะเนี่ย(อ้าว แล้วมันมีข้อเสียอะไรล่ะ?)
ผมพิเคราะห์ดูแล้ว จากประสบการณ์จากการอ่าน(การอ่านก่อให้เกิดประสบการณ์๕๕๕) ผมว่าไอ้นิสัย"ขี้อ่านขี้เขียน"เนี่ย(ขี้ในที่นี้ คือ อะไรที่คนๆ นั้น ชอบทำเป็นประจำมั่กๆ เช่น ขี้หลี ฯลฯ) มันฝังมาเนียนๆ กับยีนแน่ๆ เพราะว่าฝรั่งเป็นคนอยู่เมืองหนาว แต่โบราณก็อาศัยถ้ำอยู่ พูดกันมากก็ไม่ได้(ไอร้อนมันออก ฝรั่งเลยพูปากไม่ค่อยอ้า แถมเบาแล้วก็เร็วด้วย ฟังกันไม่ค่อยชัด) หน้าหนาวหิมะตกไม่รู้จะไปไหน พวกก็เลยขีดเขียนผนังเล่น เลยใช้ไอ้ตัวอะไรที่เขียน แทนเสียงพูด เพราะเข้าใจตรงกันดี ต่างจากเสียงพูดที่อาจฟังผิดเพี้ยน(จากลม หิมะ ฯลฯ ได้) ทำมานับศตวรรษมันเลยฝังเข้ากระดูกลงไปถึงยีนแน่ๆ(ฮาดีไหม?) ผิดกับคนแถวบ้านเรา เป็นคนท้องทุ่ง(นา) พูดจากันสบายๆ ถึงต้องตะโกนใส่กัน เพราะอยู่ที่โล่ง  ฟังกันก็รู้เรื่องดี แม้อยู่ไกลกันอ่านปากกันก็พอรู้เรื่องได้ (ต่อๆ มาคนแถวนี้พูดกันจะอ้าปากกว้างแถมช่างพูดและใช้โวหารต่างๆ มากกว่าฝร่ัง)เลยไม่ต้องหาตัวอะไรๆ มาแทนสิ่งที่พูด(ตอนนั้น) จะสื่อสารอะไรๆ ก็บอกต่อๆ กันเอา (เป็นที่มาของทฤษฎี"เขาว่า") แม้คำสั่งสอนทางลัทธิศาสนาก็นิยมใช้การ "ท่องบ่น" และ "บอก" หรือ "ต่อ" กันมากกว่า(เห็นได้จากบทสวดจะมีคำซ้ำๆ กันมาก เพราะกลัวลืม เช่น พุทฺธํ สรนํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรนํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรนํ คจฺฉามิ ต้องมีทุติยมฺปิ(ครั้งที่สอง) ตติยมฺปิ(ครั้งที่สาม) รวมสามเทียว กลัวลืม) ต่อมาจึงมาใช้ตัว"หนังสือ" จดจารจารึกคำสอนเอาก็เมื่อหลังพุทธกาลแล้วเกือบพันปี
มันน่าจะเป็นเช่นนี้แหละท่านผู้ชม รึว่าไม่?

Friday, October 8, 2010

เทวาธิปไตย

เทวาธิปไตย (อังกฤษ: Theocracy) คือระบอบการปกครองที่มีพระเจ้าหรือเทพเป็นประมุข หรือในความหมายกว้างๆ คือระบอบการปกครองที่รัฐปกครองโดยอำนาจจากเทพ (divine guidance) หรือโดยผู้ที่ถือกันว่าได้รับอำนาจหรือแรงบันดาลใจโดยตรงจากเทพ ในภาษากรีกคอยเน (Koine Greek) หรือภาษากรีกสามัญคำว่า “theocracy” มาจากคำว่า “kra′tos” โดย “the.os” หรือ “ปกครองโดยพระเจ้า” สำหรับผู้มีความศรัทธาแล้วระบบนี้ก็เป็นระบอบการปกครองที่ใช้อำนาจจากเทพในการปกครองมวลมนุษย์ในโลก ไม่โดยผู้ที่กลับชาติมาเกิด (incarnation) ก็มักจะโดยผู้แทนของสถาบันศาสนาที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลฆราวาส รัฐบาลที่ปกครองโดยระบบเทวาธิปไตยปกครองโดยเทพธรรมนูญ (theonomy)
ระบบเทวาธิปไตยควรจะแยกจากระบบการปกครองอื่นๆ ที่มีศาสนาประจำชาติ (state religion) หรือรัฐบาลที่มีอิทธิพลจากเทวปรัชญาหรือศีลธรรม หรือระบบราชาธิปไตยที่ปกครอง “โดยอำนาจของพระเจ้า” (By the Grace of God)
เทวาธิปไตยอาจจะเป็นระบบการปกครองเดี่ยวที่ฐานันดรระดับต่างๆ ของรัฐบาลที่ปกครองฆราวัสจักรเป็นฐานันดรระดับเดียวกันกับที่ใช้ในการปกครองในศาสนจักร หรืออาจจะแบ่งเป็นสองระบบที่แยกฐานันดรระหว่างฆราวัสจักรและศาสนจักร
การปกครองเทวาธิปไตยเป็นระบบที่ใช้ในหลายศาสนาที่ได้แก่ศาสนายูดาย, ศาสนาอิสลาม, ลัทธิขงจื๊อ, ศาสนาฮินดู, พุทธศาสนาบางนิกายเช่นทะไลลามะ และ คริสต์ศาสนาบางนิกายที่รวมทั้งโรมันคาทอลิก, อีสเติร์นออร์โธด็อกซ์, โปรเตสแตนต์ และมอร์มอน
ตัวอย่างของการปกครองระบบเทวาธิปไตยของคริสต์ศาสนาก็ได้แก่การปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ระหว่าง ค.ศ. 330 ถึง ค.ศ. 1453 และของจักรวรรดิคาโรลิเกียนระหว่าง ค.ศ. 800 ถึง ค.ศ. 888 หรือในปัจจุบันในการปกครองของอาณาจักรพระสันตะปาปาที่มีพระสันตะปาปาผู้ถือกันว่าเป็นผู้แทนของพระเจ้าบนโลกมนุษย์(วิกิพีเดีย)
ดูเพิ่ม
  1. Catholic Encylopedia "A form of civil government in which God himself is recognized as the head."
  2. CATHOLIC ENCYCLOPEDIA: Theocracy

Good governance

ธรรมาภิบาล (อังกฤษ: good governance) คือ การปกครอง การบริหาร การจัดการ การควบคุมดูแล กิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม นอกจากนี้ยังหมายถึงการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ธรรมที่ใช้ในการบริหารงานนี้ มีความหมายอย่างกว้าง กล่าวคือ หาได้มีความหมายเพียงหลักธรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่รวมถึง ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวง ซึ่งวิญญูชนพึงมีและพึงประพฤติปฏิบัติ อาทิ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก เป็นต้น
ธรรมาภิบาล เป็นหลักการที่นำมาใช้บริหารงานในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุเพราะ ช่วยสร้างสรรค์และส่งเสริมองค์กรให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ อาทิ พนักงานต่างทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตและขยันหมั่นเพียร ทำให้ผลประกอบการขององค์กรธุรกิจนั้นขยายตัว นอกจากนี้แล้วยังทำให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ศรัทธาและเชื่อมั่นในองค์กรนั้น ๆ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น องค์กรที่โปร่งใส ย่อมได้รับความไว้วางใจในการร่วมทำธุรกิจ รัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาชน ตลอดจนส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เป็นต้น(วิกิพีเดีย)
ทั้งนี้ ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาล คือ ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องการวางกลไกให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การวางโครงสร้าง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของเหรียญคือ เรื่องตัวบุคคล เป็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลเป็นการวางระบบวางโครงสร้างเพื่อควบคุมให้คนไม่ประพฤติปฏิบัติ แต่จริยธรรมจะลึกกว่านั้น โดยมีการปลูกฝังจิตสำนึก ต้องไม่ทุจริต ไม่ประพฤติมิชอบ ทั้งสองด้านจะต้องไปด้วยกันจึงจะยั่งยืน (ก.พ.ร.)