Friday, October 8, 2010

เทวาธิปไตย

เทวาธิปไตย (อังกฤษ: Theocracy) คือระบอบการปกครองที่มีพระเจ้าหรือเทพเป็นประมุข หรือในความหมายกว้างๆ คือระบอบการปกครองที่รัฐปกครองโดยอำนาจจากเทพ (divine guidance) หรือโดยผู้ที่ถือกันว่าได้รับอำนาจหรือแรงบันดาลใจโดยตรงจากเทพ ในภาษากรีกคอยเน (Koine Greek) หรือภาษากรีกสามัญคำว่า “theocracy” มาจากคำว่า “kra′tos” โดย “the.os” หรือ “ปกครองโดยพระเจ้า” สำหรับผู้มีความศรัทธาแล้วระบบนี้ก็เป็นระบอบการปกครองที่ใช้อำนาจจากเทพในการปกครองมวลมนุษย์ในโลก ไม่โดยผู้ที่กลับชาติมาเกิด (incarnation) ก็มักจะโดยผู้แทนของสถาบันศาสนาที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลฆราวาส รัฐบาลที่ปกครองโดยระบบเทวาธิปไตยปกครองโดยเทพธรรมนูญ (theonomy)
ระบบเทวาธิปไตยควรจะแยกจากระบบการปกครองอื่นๆ ที่มีศาสนาประจำชาติ (state religion) หรือรัฐบาลที่มีอิทธิพลจากเทวปรัชญาหรือศีลธรรม หรือระบบราชาธิปไตยที่ปกครอง “โดยอำนาจของพระเจ้า” (By the Grace of God)
เทวาธิปไตยอาจจะเป็นระบบการปกครองเดี่ยวที่ฐานันดรระดับต่างๆ ของรัฐบาลที่ปกครองฆราวัสจักรเป็นฐานันดรระดับเดียวกันกับที่ใช้ในการปกครองในศาสนจักร หรืออาจจะแบ่งเป็นสองระบบที่แยกฐานันดรระหว่างฆราวัสจักรและศาสนจักร
การปกครองเทวาธิปไตยเป็นระบบที่ใช้ในหลายศาสนาที่ได้แก่ศาสนายูดาย, ศาสนาอิสลาม, ลัทธิขงจื๊อ, ศาสนาฮินดู, พุทธศาสนาบางนิกายเช่นทะไลลามะ และ คริสต์ศาสนาบางนิกายที่รวมทั้งโรมันคาทอลิก, อีสเติร์นออร์โธด็อกซ์, โปรเตสแตนต์ และมอร์มอน
ตัวอย่างของการปกครองระบบเทวาธิปไตยของคริสต์ศาสนาก็ได้แก่การปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ระหว่าง ค.ศ. 330 ถึง ค.ศ. 1453 และของจักรวรรดิคาโรลิเกียนระหว่าง ค.ศ. 800 ถึง ค.ศ. 888 หรือในปัจจุบันในการปกครองของอาณาจักรพระสันตะปาปาที่มีพระสันตะปาปาผู้ถือกันว่าเป็นผู้แทนของพระเจ้าบนโลกมนุษย์(วิกิพีเดีย)
ดูเพิ่ม
  1. Catholic Encylopedia "A form of civil government in which God himself is recognized as the head."
  2. CATHOLIC ENCYCLOPEDIA: Theocracy

Good governance

ธรรมาภิบาล (อังกฤษ: good governance) คือ การปกครอง การบริหาร การจัดการ การควบคุมดูแล กิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม นอกจากนี้ยังหมายถึงการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ธรรมที่ใช้ในการบริหารงานนี้ มีความหมายอย่างกว้าง กล่าวคือ หาได้มีความหมายเพียงหลักธรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่รวมถึง ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวง ซึ่งวิญญูชนพึงมีและพึงประพฤติปฏิบัติ อาทิ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก เป็นต้น
ธรรมาภิบาล เป็นหลักการที่นำมาใช้บริหารงานในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุเพราะ ช่วยสร้างสรรค์และส่งเสริมองค์กรให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ อาทิ พนักงานต่างทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตและขยันหมั่นเพียร ทำให้ผลประกอบการขององค์กรธุรกิจนั้นขยายตัว นอกจากนี้แล้วยังทำให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ศรัทธาและเชื่อมั่นในองค์กรนั้น ๆ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น องค์กรที่โปร่งใส ย่อมได้รับความไว้วางใจในการร่วมทำธุรกิจ รัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาชน ตลอดจนส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เป็นต้น(วิกิพีเดีย)
ทั้งนี้ ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาล คือ ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องการวางกลไกให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การวางโครงสร้าง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของเหรียญคือ เรื่องตัวบุคคล เป็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลเป็นการวางระบบวางโครงสร้างเพื่อควบคุมให้คนไม่ประพฤติปฏิบัติ แต่จริยธรรมจะลึกกว่านั้น โดยมีการปลูกฝังจิตสำนึก ต้องไม่ทุจริต ไม่ประพฤติมิชอบ ทั้งสองด้านจะต้องไปด้วยกันจึงจะยั่งยืน (ก.พ.ร.)